top of page

น้อมรำลึกพระราชกรณียกิจอันโดดเด่น ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร



เนื่องในวาระครบรอบ 2 ปี วันคล้ายวันสวรรคต สุขโข แปลภาษา ขอน้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจสำคัญ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

โครงการฝนหลวง ริเริ่มขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดารกว่า 15 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำใช้เพื่อการเกษตร ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรและนักประดิษฐ์ควายเหล็กที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ แล้วพระราชทานแนวคิดนั้นแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล โดยมีทฤษฎีต้นกำเนิดจากแนวคิด “หลักการแรกคือ ให้โปรยสารดูดซับความชื้น (เกลือทะเล) จากเครื่องบิน เพื่อดูดซับความชื้นในอากาศ แล้วใช้สารเย็นจัด (น้ำแข็ง) เพื่อให้เกิดความชื้นกลั่นตัวและรวมเป็นเมฆ” ซึ่งจากทฤษฎีริเริ่มดังกล่าว พระองค์ใช้เวลาคิดค้นทดลองต่ออีก 14 ปีกว่า เพื่อศึกษาวิจัยประกอบการค้นคว้าทดลองมาโดยตลอด และจากการลองผิดลองถูกก็บังเกิดจนผลสำเร็จดังทุกวันนี้

โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้น และทรงห่วงใยพสกนิกรที่ต้องเผชิญปัญหานี้ หลังจากทอดพระเนตรสภาพน้ำเสียจากพื้นที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ในระยะแรกระหว่างปี พ.ศ.2527-2530 ทรงแนะนำให้ใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยบรรเทาน้ำเสีย และวิธีกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวาและพืชน้ำต่าง ๆ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

แต่ปัญหาน้ำเสียไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง กลับมีแนวโน้มของอัตราความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การใช้วิธีธรรมชาติไม่อาจบรรเทาความเน่าเสียของน้ำได้ดีเท่าที่ควร พระองค์จึงพระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่ายที่ผลิตได้เองในประเทศ ซึ่งมีรูปแบบ “ไทยทำไทยใช้” โดยได้แนวทางจาก “หลุก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์วิดน้ำเข้านาที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นจุดคิดค้นเบื้องต้น และทรงมุ่งหวังที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการบรรเทาน้ำเสีย จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณเพื่อการศึกษาวิจัยสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ โดยดำเนินการจัดสร้างเครื่องมือบำบัดน้ำเสียร่วมกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการผลิตเครื่องกลเติมอากาศในเวลาต่อมา และรู้จักกันแพร่หลายในชื่อ “กังหันน้ำชัยพัฒนา”

โครงการแกล้งดิน

เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่ จ.นราธิวาส และพื้นที่ใกล้เคียง โดยให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริดำเนินการศึกษาและวิจัยปรับปรุงดินด้วยวิธีการ “แกล้งดิน” คือทำให้ดินเปรี้ยวเป็นกรดจัดอย่างรุนแรงที่สุด ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกโดยนำน้ำเข้าแปลงทดลองในระยะหนึ่ง แล้วระบายน้ำออกเพื่อให้ดินแห้งระยะหนึ่งสลับกัน จะเป็นการกระตุ้นการเป็นกรดมากยิ่งขึ้น ด้วยหลักการนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้เลียนแบบสภาพธรรมชาติ ซึ่งมีฤดูแล้งและฤดูฝนตามปกติในแต่ละปี แต่ให้ใช้วิธีการร่นเวลาช่วงหน้าแล้งและหน้าฝนในรอบปีให้สั้นลง รวมทั้งปล่อยให้ดินแห้ง 1 เดือน และขังน้ำให้ดินเปียกนาน 2 เดือนสลับกันไป ทำให้เกิดภาวะดินแล้งและดินเปียก 1 รอบ/1 ปี เสมือนกับมีฤดูแล้งและฤดูฝน 4 ครั้ง ใน 1 ปี หลังจากนั้นจึงให้หาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวเพื่อให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้

ทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง

โครงการที่ประชาชนสนใจและนำไปปฏิบัติใช้อย่างมาก เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยเป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในชั้นต้น โดยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่นี้แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นต้นคือ การแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตรา 30-30-30-10 เพื่อขุดเป็นสระกักเก็บน้ำร้อยละ 30 และเป็นที่อยู่อาศัยอีกร้อยละ 10 ขณะเดียวกัน เป้าหมายของทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียงคือต้องการให้ประชาชนบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

พระราชกรณียกิจเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำไว้ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการใช้ชีวิต และเพื่อให้พสกนิกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเช่นทุกวันนี้ เนื่องในโอกาสวันครบรอบนี้ พวกเราชาว สุขโข แปลภาษา จึงขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้นี้

สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า บริษัทสุขโข แปลภาษา

Posted by SUKO Translation ขอบคุณข้อมูลจาก: Posttoday.com ขอบคุณสื่อวิดิทัศน์: Youtube-อัครพงษ์ ติงสะ ผลงานนักเรียนรางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง ในการประกวดการแข่งขันตัดต่อภาพยนต์ ระดับชั้น ม.4-6 งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 66 ระดับสหวิทยาเขตชลบุรี 3 ณ โรงเรียนโพธิสัมพันธ์พิทยาคาร วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559

 

SUKO Translation

​Translation agency - Thai / French / English

Accredited by the Embassy of France, the Embassy of Belgium, the Embassy of Switzerland and the Embassy of Grand Duchy of Luxembourg in Bangkok.

Member of the Franco-Thai Chamber of Commerce.

055-697-155 | 093 315 4000 www.suko-thai-translation.com


bottom of page