top of page

วันปิยะมหาราช


วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พระองค์ได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า " สมเด็จพระปิยมหาราช" หรือพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งมีความหมายว่า

"พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน" ด้วยความสำนึกในพระ-มหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็น “วันปิยมหาราช”

พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ" ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมขุนพินิตประชานาถ" และบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ

สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาท-สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหา-อุปราช ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม และได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืนและนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราช-พิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 ซึ่งนับแต่นั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน

พระมหากษัตริย์ไทยในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระปรีชาสามารถในการวางแผนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงริเริ่มพระราชกรณียกิจที่กลายเป็นรากฐานสำคัญให้กับประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้ พระราชกรณียกิจด้านการโทรศัพท์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล และพระปรีชาสามารถอย่างมากในการพัฒนาประเทศ โดยกระทรวงกลาโหมได้นำโทรศัพท์อันเป็นวิทยาการในการสื่อสารที่ทันสมัยเข้ามาทดลองใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2424 จากกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ เพื่อแจ้งข่าวเรือเข้า - ออกที่ปากน้ำ ซึ่งต่อมากรมโทรเลขได้มารับช่วงต่อในการวางสายโทรศัพท์ภายในกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลา 3 ปีจึงแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชน และพัฒนามาจนกระทั่งทุกวันนี้

พระราชกรณียกิจด้านการพยาบาลและสาธารณสุข

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะสร้างโรงพยาบาลเพื่อรักษาประชาชนด้วยการแพทย์แผนใหม่ เนื่องจากการรักษาแบบเดิมนั้นล้าสมัย ไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงทีทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมายเมื่อเกิดโรคระบาด พระองค์จึงทรงจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นบริเวณริมคลองบางกอกน้อย อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลัง โดยได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จำนวน 16,000 บาท เป็นทุนเริ่มแรกในการสร้างโรงพยาบาล ให้ใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลวังหลัง เปิดทำการรักษาแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431

ต่อมาพระองค์ได้พระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ใหม่ว่า โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสที่ประสูติในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ที่สิ้นพระชนเมื่อพระชนมายุเพียง 1 ปี 7 เดือน

พระราชกรณียกิจด้านการขนส่งและการสื่อสาร

ในปี พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้คณะเสนาบดีและกรมโยธาธิการสำรวจเส้นทาง เพื่อวางรากฐานการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ มีการวางแผนให้ทางรถไฟสายนี้ตัดเข้าเมืองใหญ่ ๆ ในบริเวณภาคกลางของประเทศ แล้วแยกเป็นชุมสายตัดเข้าสู่จังหวัดใหญ่ทางแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นหัวลำโพงเมืองที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า

พระราชกรณียกิจด้านการไฟฟ้า

ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าไฟฟ้าเป็นพลังงานที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก เมื่อมีโอกาสประพาสต่างประเทศ ได้ทอดพระเนตรกิจการไฟฟ้า และทรงเห็นถึงประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดจากการมีไฟฟ้า พระองค์จึงทรงมอบหมายให้กรมหมื่นไวยวรนารถเป็นผู้ริเริ่มในการจ่ายกระแสไฟฟ้าขึ้นในปี พ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นการเปิดใช้ไฟฟ้าครั้งแรกของไทย

พระราชกรณียกิจด้านการกฎหมาย

กฎหมายในขณะนั้นมีความล้าสมัยอย่างมาก เนื่องจากใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และยังไม่เคยมีการชำระขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับยุคสมัย ทำให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างในการเอาเปรียบไทยเรื่องการทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับการขึ้นศาลตัดสินคดีที่ไม่ให้ชาวต่างชาติขึ้นศาลไทย โดยตั้งศาลกงสุลพิจารณาคดีคนในบังคับต่างชาติเองแม้ว่าจะมีคดีความกับชาวไทยก็ตาม ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ สร้างประมวลกฎหมายอาญาขึ้นใหม่เพื่อให้ทันสมัยทัดเทียมกับอารยประเทศ และในปี พ.ศ. 2440 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นสถานที่สำคัญอันผลิตนักกฎหมายที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศ

เนื่องในวาระครบรอบ 23 ตุลาคม วันปิยะมหาราชนี้ สุขโข แปลภาษา

ขอน้อมรำลึกถึงองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน

Posted by SUKO Translation ข้อมูลจาก https://www.tkpark.or.th/tha https://www.tsood.com​

https://www.sanook.com

 

SUKO Translation

​Translation agency - Thai / French / English

Accredited by the Embassy of France, the Embassy of Belgium, the Embassy of Switzerland and the Embassy of Grand Duchy of Luxembourg in Bangkok.

Member of the Franco-Thai Chamber of Commerce.

055-697-155 | 093 315 4000 www.suko-thai-translation.com


bottom of page